บัญชี, การบัญชี
การสอบบัญชี
ภาษี
พรบ.การบัญชี
รับตรวจสอบบัญชี จดทะเบียนการค้า
รับทำบัญชี
ตรวจสอบบัญชี
จดทะเบียนบริษัท
 
 
 
 
 
   
 
Monday, January 4, 2016
 

ข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี

 

ข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี

(ฉบับที่ ๘)

เรื่อง การประชุมใหญ่และการเสนอเรื่องให้ที่ประชุมใหญ่พิจารณา

พ.ศ. ๒๕๔๗


โดยที่เป็นการสมควรให้ข้อบังคับว่าด้วยการประชุมใหญ่และการเสนอเรื่องให้ที่ประชุมใหญ่พิจารณา

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ (๑๑) มาตรา ๑๙ และมาตรา ๓๐ แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ. ๒๕๔๗ สภาวิชาชีพบัญชีจึงออกข้อบังคับไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ ข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี (ฉบับที่ ๘) เรื่อง การประชุมใหญ่ และการเสนอเรื่องให้ที่ประชุมใหญ่พิจารณา พ.ศ. ๒๕๔๗ ”

ข้อ ๒ ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป

ข้อ ๓ ในข้อบังคับนี้

“ การประชุมใหญ่ ” หมายความว่า การประชุมใหญ่สามัญหรือการประชุมใหญ่วิสามัญ

“ คณะกรรมการ ” หมายความว่า คณะกรรมการสภาวิชาชีพบัญชี

“ สมาชิก ” หมายความว่า สมาชิกสามัญ สมาชิกวิสามัญ สมาชิกสมทบ หรือสมาชิกกิตติมศักดิ์

“ ประธาน ” หมายความว่า ประธานในที่ประชุม

หมวด ๑

บททั่วไป


ข้อ ๔ ให้มีการประชุมสมาชิกเป็นการประชุมใหญ่ปีละหนึ่งครั้ง เรียกว่าการประชุมใหญ่สามัญประจำปี

การประชุมใหญ่คราวอื่นซึ่งมีนอกจากนี้ เรียกว่า การประชุมใหญ่วิสามัญ

ข้อ ๕ สมาชิกทุกคนมีสิทธิเข้าประชุมในที่ประชุมใหญ่ได้

ข้อ ๖ คณะกรรมการจะเรียกประชุมใหญ่วิสามัญเมื่อใดก็ได้ สุดแต่จะเห็นสมควรตามที่จำเป็น ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินงานของสภาวิชาชีพบัญชีเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด

ข้อ ๗ เมื่อสมาชิกสามัญมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยคน ได้เข้าชื่อกันทำหนังสือร้องขอให้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญ ให้นายกสภาวิชาชีพบัญชีเรียกประชุมใหญ่วิสามัญภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำขอ

การร้องขอให้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญตามวรรคหนึ่ง ต้องระบุว่าประสงค์ให้เรียกประชุมเพื่อการใด

ข้อ ๘ สมาชิกสามัญเท่านั้นที่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนมติในที่ประชุมใหญ่

หมวด ๒

วิธีการประชุม


ข้อ ๙ คณะกรรมการต้องมีหนังสือเรียกประชุมโดยส่งทางไปรษณีย์หรือสิ่งอื่นใดตามที่นายกสภาวิชาชีพบัญชีกำหนด ไปยังสมาชิกทุกคน ณ ที่อยู่ที่ได้แจ้งไว้ก่อนวันประชุมไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน หรือมีหนังสือเรียกประชุมโดยประกาศทางหนังสือพิมพ์รายวันที่แพร่หลายทั่วไป อย่งน้อยหนึ่งฉบับและอย่างน้อยหนึ่งวัน ก่อนวันประชุมไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน

หนังสือเรียกประชุมนั้น ให้ระบุสถานที่ วัน เวลา ระเบียบวาระ และเอกสารที่เกี่ยวข้องด้วย

ในกรณีที่มีเอกสารเกี่ยวข้องเป็นจำนวนมากซึ่งไม่อาจที่จะส่งพร้อมหนังสือเรียกประชุมได้ โดยมีเหตอันสมควร นายกสภาวิชาชีพบัญชีอาจกำหนดให้รับเอกสาร ณ สถานที่ใด หรือใช้สื่ออื่นใด ที่จะเป็นการสะดวกก็ได้

ข้อ ๑๐ สมาชิกที่มาประชุมต้องแสดงบัตรประจำตัวสมาชิก บัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรแสดงตนอื่นใดที่หน่วยงานของรัฐออกให้และมีรูปถ่ายของบุคคลผู้นั้นติดอยู่ ต่อคณะกรรมการหรือเจ้าหน้าที่ผู้ได้รับมอบหมาย และให้ลงชื่อก่อนเข้าประชุมทุกครั้ง

เมื่อมีสมาชิกสามัญเข้าประชุมครบองค์ประชุม (ไม่น้อยกว่าสองร้อยคน) แล้ว ให้ดำเนินการตามระเบียบวาระการประชุมที่จัดไว้ เว้นแต่ที่ประชุมจะลงมติเป็นอย่างอื่น

ข้อ ๑๑ ให้ที่ประชุมพิจารณาเฉพาะเรื่องที่มีอยู่ในระเบียบวาระการประชุมและต้องดำเนินการตามระเบียบวาระการประชุมที่จัดไว้ เว้นแต่ที่ประชุมจะลงมติเป็นอย่างอื่น

การพิจารณาเรื่องอื่นๆ ให้กระทำได้ภายหลังจากที่ประชุมพิจารณาเรื่องที่มีอยู่ในระเบียบวาระการประชุมเสร็จแล้ว

ข้อ ๑๒ สมาชิกผู้ใดประสงค์จะกล่าวถ้อยคำต่อที่ประชุม ให้ยกมือขึ้นพ้นศีรษะเมื่อประธานอนุญาตแล้วจึงยืนขึ้นกล่าวได้ และต้องเป็นคำกล่าวกับประธานเท่านั้น หากประธานไม่อนุญาตให้แจ้งเหตุผลที่ไม่อนุญาตด้วย

ข้อ ๑๓ ถ้าคณะกรรมการขอแถลงหรือชี้แจงเรื่องใดต่อที่ประชุม ให้ประธานพิจารณาอนุญาต และให้ประธานควบคุมเวลาในการแถลงหรือชี้แจง ตามความเหมาะสม หากการชี้แจงของคณะกรรมการหรือกรรมการเป็นเรื่องอื่นไม่เกี่ยวกับระเบียบวาระการประชุม ให้ประธานมีอำนาจสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตก็ได้ตามความเหมาะสม

ข้อ ๑๔ ประธานมีอำนาจปรึกษาที่ประชุมในปัญหาใดๆ สั่งพักการประชุม เลื่อนการประชุมหรือเลิกการประชุมได้ตามที่เห็นสมควร

ข้อ ๑๕ ให้นายกสภาวิชาชีพบัญชีจัดทำบันทึกรายงานการประชุมและเก็บรักษาไว้เป็นหลักฐาน

หมวด ๓

การเสนอเรื่องให้ที่ประชุมใหญ่พิจารณา


ข้อ ๑๖ สมาชิกมีสิทธิเสนอเรื่อง โดยให้บรรจุเป็นระเบียบวาระการประชุมได้ แต่ต้องมีสมาชิกสามัญรับรองอย่างน้อยหนึ่งร้อยคน และต้องมีหนังสือแจ้งล่วงหน้าต่อนายกสภาวิชาชีพบัญชีไม่น้อยกว่าสามสิบวันก่อนวันประชุม

ให้นายกสภาวิชาชีพบัญชีบรรจุเรื่องที่เข้าหลักเกณฑ์ตามวรรคหนึ่งในระเบียบวาระการประชุมเรื่องเพื่อพิจารณา

หมวด ๔

การอภิปราย


ข้อ ๑๗ การอภิปรายต้องอยู่ในประเด็นหรือเกี่ยวกับประเด็นที่กำลังปรึกษากันอยู่ ต้องไม่ฟุ่มเฟือย วนเวียน ซ้ำซากหรือซ้ำกับผู้อื่น และห้ามมิให้นำเอกสารใดๆ มาอ่านให้ที่ประชุมฟังโดยไม่จำเป็น

ห้ามผู้อภิปรายแสดงกิริยาหรือใช้วาจาอันไม่สุภาพ ใส่ร้ายหรือเสียดสีบุคคลใด และห้ามกล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์หรือออกชื่อสมาชิกหรือบุคคลใดโดยไม่จำเป็น

ข้อ ๑๘ ถ้าประธานเห็นว่าผู้ใดได้อภิปรายพอสมควรแล้ว ประธานจะให้ผู้นั้นหยุดอภิปรายก็ได้

ข้อ ๑๙ การอภิปรายเป็นอันยุติ เมื่อ

(๑) ไม่มีผู้ใดอภิปราย

(๒) ที่ประชุมลงมติให้ปิดอภิปราย

(๓) ที่ประชุมลงมติให้ยกเรื่องอื่นขึ้นปรึกษา

ข้อ ๒๐ ในกรณีที่ประธานพิจารณาเห็นว่าได้อภิปรายกันพอสมควรแล้วจะขอให้ที่ประชุมใหญ่วินิจฉัยว่าจะปิดอภิปรายหรือไม่ก็ได้

ข้อ ๒๑ เมื่อการอภิปรายได้ยุติแล้ว ห้ามมิให้ผู้ใดอภิปรายอีก

หมวด ๕

การลงมติ


ข้อ ๒๒ ในกรณีที่จะต้องมีมติ ให้ประธานขอให้ที่ประชุมลงมติ

ข้อ ๒๓ การออกเสียงลงมติตามข้อบังคับนี้ให้ใช้วิธียกมือ เว้นแต่สมาชิกไม่น้อยกว่าห้าคนร้องขอและที่ประชุมลงมติให้ลงคะแนนลับก็ให้ใช้วิธีลงคะแนนลับ

วิธีการลงคะแนนลับให้เป็นไปตามที่ประธานกำหนด

ข้อ ๒๔ มติของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก สมาชิกสามัญคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพื่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

ประกาศ ณ วันที่ ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๗

เกษรี ณรงค์เดช

(ศาสตราจารย์เกษรี ณรงค์เดช)

นายกสภาวิชาชีพบัญชี

 

   |   ข่าวบัญชี  |   บัญชี-การบัญชี   |   การสอบบัญชี   |   ภาษี   |   พรบ.การบัญชี   |   เครื่องหมายการค้า   |
บริการของเรา   :   รับทำบัญชี   |   ตรวจสอบบัญชี   |   จดทะเบียนบริษัท   |   ลิงค์สำคัญ  l  Site Map
จดทะเบียนธุรกิจ จดทะเบียนนิติบุคคล Copyright @ 2004 buncheeaudit.com - รับทำบัญชี ตรวจสอบบัญชี จดทะเบียนบริษัท
6/792-3 ถนนรามคำแหง2 แขวงดอกไม้ เขตประเวศ กรุงเทพฯ 10250
Tel : 02-397-7201-2 , 02-720-9755-6 Fax : 02-397-7203